ภาษีร้านค้าออนไลน์! ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี?
หลังรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายใหม่ เกี่ยวกับการเก็บภาษีออนไลน์ “รับโอนเงินเกินกำหนด เจอตรวจสอบ” แบบนี้ใครบ้างจะได้รับผลกระทบ ธุรกิจร้านค้าออนไลน์คงมีความรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ หรือเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อย วันนี้ BKKPaperBox จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
เรื่องภาษีได้รับความสนใจและถูกพูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ หลังจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวเข้าข่ายต้องเสียภาษี หรือที่หลายคนเรียกกันว่า "พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์"
นั่นแปลว่า ใครที่รับโอนเงินถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็จะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี และไม่ใช่แค่คนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิโดนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เรามาดูรายละเอียดของกฎหมายนี้กันให้ชัด ๆ ดีกว่า
พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ เริ่มเมื่อไหร่
ล่าสุด สนช. ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นกฎหมายแล้ว หลังจากนี้จะดำเนินตามกระบวนการตามกฎหมายเพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ต่อไป
โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรม ครั้งแรกภายในเดือนมีนาคม 2563
บังคับใช้กับใครบ้าง
ประเด็นสำคัญของกฎหมายนี้ เพื่อต้องการตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีรายได้ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็น
- ร้านค้าออนไลน์
- พ่อค้า-แม่ค้า
- มนุษย์เงินเดือน
- อาชีพรับจ้าง
- บริษัท-ห้างร้านต่าง ๆ
รวมถึงผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่ได้มีการยื่นเสียภาษีอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดี กฎหมายจะไม่มีการตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีย้อนหลัง
ยอดรับโอนเท่าไหร่ ธนาคารถึงส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร
สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลการใช้บริการให้กรมสรรพากรก็ต่อเมื่อ จะต้องมียอดฝากหรือรับโอนเงิน รวมกันทุกช่องทางทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และ Internet Banking (ไม่รวมการโอนเงินให้บัญชีตนเองและคนอื่น) ในแต่ละธนาคาร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี
นับเฉพาะจำนวนครั้งที่รับโอนเงินเลย คือถ้าปีนั้นรับโอนถึง 3,000 ครั้ง โดนตรวจสอบหมด ไม่ว่ามูลค่าเงินจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาท/ปีขึ้นไป
ต้องเข้า 2 เงื่อนไข ทั้งจำนวนครั้งและมูลค่าเงิน เช่น ยอดโอน 400 ครั้ง มูลค่ารวม 2.5 ล้านบาท แบบนี้คือโดนตรวจสอบ
แต่ถ้าเป็น ยอดโอน 400 ครั้ง มูลค่ารวม 1 ล้านบาท แบบนี้จะไม่โดนตรวจสอบ หรือยอดโอน 300 ครั้ง มูลค่า 3 ล้านบาท ก็ไม่โดนตรวจสอบเช่นกัน
ทั้งนี้ การนับยอดทำธุรกรรมจะเป็นแบบปีต่อปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ
ขายของออนไลน์เท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี
บอกก่อนว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นคนละส่วนกันกับการเรียกเก็บภาษีขายของออนไลน์ เพราะเป็นเพียงการให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลบัญชี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งอาจจะโดนเก็บภาษีหรือไม่โดนก็ได้ เพราะต้องไปดูรายได้รวมอีกที ส่วนเรื่องการเสียภาษีออนไลน์ ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ก็ต้องยื่นเสียภาษีกันอยู่แล้ว หากมีรายได้ตามเกณฑ์ ดังนี้่
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท/ปีขึ้นไป
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี
ในตอนที่ 2 BKKPaperBox เราจะมาอธิบายถึง......ถ้าเข้าเกณฑ์ต้องยื่นยังไง? เตรียมเอกสารอะไรบ้าง? และมีอะไรที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้? ฝากติดตามข้อมูลดีๆ ในตอนต่อไปนะคะ
อ่านตอนที่ 2 แม่ค้าออนไลน์มีรายได้เท่าไหร่? ต้องเสียภาษี
อ่านตอนที่ 3 จ่ายภาษีมีข้อดีอย่างไร?