ทำไมสีที่พิมพ์จริงไม่ตรงกับสีในไฟล์งาน

5 สาเหตุที่ทำให้สีงานพิมพ์จริงไม่ตรงกับสีในไฟล์งาน  



“ทำไมสีที่พิมพ์จริงไม่ตรงกับสีในไฟล์งาน” เป็นคำถามที่ลูกค้าหลายท่านคงเคยสงสัย หลายครั้งเราพบว่า งานที่พิมพ์เสร็จออกมาแล้ว มีสีที่ไม่ตรงกับในไฟล์ที่ออกแบบไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สีเพี้ยนมีได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัจจัยในด้านโรงพิมพ์เอง รวมไปถึงปัจจัยจากทางลูกค้า ซึ่ง BKKPaperBox ได้รวบรวมสาเหตุพร้อมคำอธิบายทุกประเด็นให้เรียบร้อยแล้ว ดังนี้

1. ระบบสี RGB vs CMYK


คำถาม : กรณีที่ลูกค้าส่งไฟล์งานมาเป็นค่าสี RGB แล้วต้องการให้ทางโรงงานแก้ให้เป็นค่าสี CMYK พร้อมขอให้สีเหมือนไฟล์ RGB โรงงานทำให้ได้หรือไม่?

คำตอบ : ทำไม่ได้ เพราะระบบสีทั้งสองระบบนี้ “ไม่เหมือนกัน” และ “ไม่สามารถทดแทนกันได้” เราไม่มีทางปรับค่าสี RGB จะให้เหมือนกับค่า CMYK ได้ อาจจะทำให้ดูใกล้เคียงกันได้ในบางสี แต่ในบางสีจะแตกต่างกันไปเลย ในขั้นตอนนี้ลูกค้าควรแปลงค่าสีในไฟล์ต้นฉบับมาเอง เพราะลูกค้าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสีและตัดสินใจได้ว่าควรจะต้องแก้ไขสีงานอย่างไรให้ตรงใจที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วทางโรงงานสามารถแปลงให้ได้ค่ะ แต่ลูกค้าจะไม่รู้เลยว่าสีที่เปลี่ยนไปนั้น เป็นสีที่ถูกใจแล้วหรือยัง และจะใช้เวลามาก เพราะต้องส่งกลับไปมา เพื่อเช็คสี ดังนั้นลูกค้าควรจะแปลงค่าสีเป็น CMYK มาเองจะดีที่สุดค่ะ


 ระบบสี RGB 
ย่อมาจากสี Red (แดง), Green (เขียว) และ Blue (ฟ้า) เป็นค่าสีที่เหมาะกับการทำงานเกี่ยวกับสื่อดิจิทัลรูปแบบต่างๆ เช่น Computer Monitors, Email, Internet/Website, CD/DVD files, Television, Smartphone

 ระบบสี CMYK
ย่อมาจาก Cyan (ฟ้าอมเขียว) , Magenta (แดงอมม่วง) , Yellow (เหลือง) , Key (สีดำ) (ที่ไม่ใช้ B แทน Black เพราะจะสับสนกับ Blue) ทั้ง 4 สีนี้ถูกนำมาใช้ในการพิมพ์สีต่างๆ ซึ่งเป็นสีที่เรามองเห็นบนวัตถุต่างๆ เช่น กระดาษ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น Poster, Billboards, Magazine, Glossies, Business Cards, Brochures and Leflets

จะเห็นได้ว่า ระบบสี RGB กับ CMYK มีความต่างกันทั้งลักษณะของสีและการนำไปใช้งาน ดังนั้น ในการผลิตกล่องควรตั้งค่าสีเป็น CMYK ทุกครั้งค่ะ

คำถาม : ถ้ามีภาพงานกล่องที่ปริ้นจากเครื่อสแกนเนอร์ หรือ รูปถ่ายกล่องที่มาจากกล้องดิจิตอล/กล้องมือถือ ส่งมาเทียบสีได้ไหม?

คำตอบ : ทำไม่ได้ เพราะเครื่อสแกนเนอร์/กล้องดิจิตอล/กล้องมือถือ จะถูกบันทึกในระบบสี RGB โดยอัตโนมัติ หากต้องการเทียบสี ควรนำไปแปลงค่าเป็น CMYK ก่อนแล้วจึงนำมาเทียบสีอีกครั้ง

 สามารถอ่านบทความสี RGB และ CMYK ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับงานแบบไหนบ้าง เพิ่มเติมได้ค่ะ 


2. การเคลือบงาน
การผลิตกล่องโดยเฉพาะกระดาษอาร์ดการ์ดจะมีการเคลือบงานทุกครั้ง ซึ่งการเคลือบทุกชนิดมีผลกับสีและความสว่างของภาพอยู่บ้างเล็กน้อย การเคลือบที่นิยม เช่น
  • น้ำยาวานิช
  • วอเตอร์เบส
  • น้ำยายูวี
  • ฟิล์มOPP 
  • ฟิล์มPVC

งานของ BKKPaperBox ใช้การเคลือบด้วยฟิล์ม PVC ลักษณะของตัวฟิล์มเองจะมีความหนา ซึ่งความหนาของฟิล์มจะดูดซับแสงไปบางส่วน ดังนั้น การเคลือบ PVC ก็จะมีผลต่อสีของงานเล็กน้อย ตัวอย่าง

  • การเคลือบ PVC เงา จะทำให้สีของงานเข้มขึ้นเล็กน้อย
  • การเคลือบ PVC ด้าน จะทำให้สีของงานดร๊อปลงเล็กน้อยเช่นกัน

สรุปสั้นๆ คือ เทคนิคงานเคลือบมีผลต่อสีที่พิมพ์บนกระดาษ 10-15% ดังนั้น ลูกค้าควรเผื่อเรื่องสีงานพิมพ์ในจุดนี้ไว้ด้วยนะคะ

 

3. มีการใช้สีแพนโทน (PANTONE) ในงานพิมพ์

 

คำถาม : ไฟล์งานมีค่าสีแพนโทน (PANTONE) จะผลิตได้หรือไม่ และจะได้สีงานตามต้องการไหม?

คำตอบ : ผลิตได้ แต่ต้องพิมพ์เป็นค่าสีพิเศษ ที่ผสมขึ้นมาใหม่โดยช่างมืออาชีพที่จะเทียบเคียงสีแพนโทนจากเล่มไกด์บุ๊คของสีแพนโทนโดยเฉพาะ ขั้นตอนนี้ลูกค้าสามารถมาเทียบสีจากเล่มไกด์บุ๊คที่โรงงานได้ค่ะ ลูกค้าจะได้สีงานที่ตรงตามค่าสีแพนโทนที่ระบุไว้ค่ะ แต่ระบบสีนี้จะมีค่าใช้จ่ายต่างหาก เพราะเป็นสีพิเศษที่ต้องผสมขึ้นใหม่ค่ะ



4. ลูกค้าเทียบสีจากตัวอย่างที่พิมพ์จาก Printer

คำถาม : สามารถเทียบสีจากตัวอย่างที่พิมพ์จาก Printer ได้หรือไม่?

คำตอบ : ไม่ได้ค่ะ เพราะ Printer สีที่ใช้กันตามออฟฟิศทั่วไปมีคุณสมบัติของหมึกที่ต่างจากเครื่องผลิตจริง ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาเทียบสีด้วยกันได้ค่ะ นอกจากนี้หมึก Printer แต่ละยี่ห้อก็ให้สีไม่เหมือนกัน มีเรื่องของหมึกแท้ไม่แท้อีกด้วย ทำให้สีทั้งระบบนำมาเทียบกันไม่ได้เลยค่ะ

 

5. สีที่มองเห็นจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ / มือถือ / ipad

คำถาม : ทำไมสีของงานที่มองเห็นจากหน้าจอคอมกับสีของงานพิมพ์จริงจึงไม่เหมือนกัน?

คำตอบ : เป็นเพราะการแสดงผลของสีบนหน้าจอมีความต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าหน้าจอและชนิดหน้าจอของแต่ละเครื่อง แต่ละยี่ห้อด้วย หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าจอมอนิเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จริง ๆ แล้วเรามีประเภทของหน้าจออยู่ 3 แบบด้วยกัน ทั้ง 3 แบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ถ้าเราไม่ได้เป็นคนเลือกซื้อหน้าจอเอง แต่ใช้เครื่องที่บริษัททำงาน เราอาจจะไม่รู้เลยว่าเรากำลังใช้หน้าจอประเภทไหนอยู่ จอทั้ง 3 ได้แก่


 TN : เป็นจอที่มีราคาถูกที่สุด แสดงผลของสีได้น้อย ทำให้มีความแม่นยำเรื่องสีน้อยที่สุด และยังมีข้อจำกัดเรื่องมุมมองภาพ ถ้าไม่ได้มองหน้าจอจากด้านหน้าตรงๆ แต่มองเอียงๆ จากด้านข้าง จะทำให้เห็นสีผิดจากความเป็นจริงไปมาก จอนี้เหมาะกับการเล่นเกมส์ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในงานกราฟฟิก

 IPS : เป็นหน้าจอที่มีราคาแพงที่สุด เราสามารถมองหน้าจอได้เกือบเอียงข้างโดยที่สียังไม่เพี้ยน ความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) สูงที่สุด นั่นทำให้หน้าจอแบบ IPS นี้ เหมาะกับการใช้งานกราฟฟิกมากที่สุด


 VA : เป็นจอที่มีคุณภาพและราคาอยู่ในระดับกลาง มีความแตกต่างของสี (Color depth) และความกว้างของช่วงสี (Color gamut) กลางๆ ดีกว่าจอแบบ TN แต่ก็ยังแย่กว่าจอแบบ IPS ดังนั้นจอ VA นี้จึงเหมาะกับเอาไว้ใช้ดูหนัง และงานทั่วๆ ไป

ดังนั้นการเลือกหน้าจอให้เหมาะสมกับการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ ถ้าทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ ควรเลือกหน้าจอประเภท IPS ไว้ก่อนค่ะ หรือลองดูที่สเปคของเครื่องที่ใช้งานอยู่ก็ได้นะคะ โดยสามารถค้นหาชื่อรุ่นใน google แล้วเช็ครายละเอียดว่า เครื่องที่เราใช้อยู่เป็นจอมอนิเตอร์ชนิดใด เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการใช้งาน

 

 

คำถาม : ดูไฟล์งานที่ออกแบบใน Iphone/Ipad จะใช้เทียบเคียงสีกับงานพิมพ์จริงได้ไหม?
คำตอบ : ไม่ได้ค่ะ เพราะหน้าจอโทรศัพท์ iPhone และ iPad ไม่รองรับระบบสี CMYK” เนื่องจากหน้าจอของ iPhone และ iPad (รวมถึงหน้าจอมือถือบางยี่ห้อ) ไม่รองรับการแสดงผลสีบางประเภท รวมถึงสี CMYK ด้วย นั่นทำให้เราไม่สามารถเปิดไฟล์งานที่ออกแบบในคอมพิวเตอร์ด้วยระบบสี CMYK ใน iPhone หรือ iPad ได้ค่ะ คือเปิดดูได้ แต่สีจะเพี้ยน นำมาเทียบเคียงกันไม่ได้ รวมถึงการใช้แอพลิเคชั่นบางตัวในมือถือ เช่น โปรแกรม CANVAS ก็ไม่ได้ให้ค่าสีที่ถูกต้องและแม่นยำค่ะ

วิธีแก้ไขคือ เช็คไฟล์งานในเครื่อง PC หรือ Mac ไปเลย เพื่อป้องการสีเพี้ยนจากหน้าจอ รวมถึงการออกแบบไฟล์งาน แนะนำให้ออกแบบในเครื่อง PC หรือ Mac ไปเลยเช่นกันค่ะ เพื่อเช็คคาสีที่ใกล้เคียงได้มากที่สุด และประหยัดเวลา ไม่ยุ่งยากในการปรับสีไปมา

สำหรับลูกค้าที่ซีเรียสเรื่องสีมากๆ ทาง BKKPaperBox แนะนำให้ลองเช็คทั้ง 5 ขั้นตอนที่แนะนำมานี้อย่างละเอียดก่อนส่งไฟล์งานมาผลิตนะคะ หรือสามารถปรึกษากับทีมงาน BKKPaperBox ได้ตลอดค่ะ เพื่อคุณภาพงานพิมพ์ที่ถูกต้อง ตรงใจมากที่สุดค่ะ

หากต้องการคำปรึกษาเรื่องการออกแบบและการผลิตแพ็คเกจจิ้ง สามารถปรึกษากับ BKKPaperBox ได้นะคะ
 พูดคุยเพิ่มเติม Add Line เดียว สอบถามได้ทั้งงานสั่งทำและปรึกษางานนะคะ

 Line ID : @bkkpaperbox 
 โทรสอบถามเพิ่มเติม
เอวา 0956519893
เอ็มมี่ 0933264882

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้