ประมวลรัษฎากร ระบุว่า บุคคลธรรมดาที่เป็นแม่ค้าออนไลน์ ถือเป็นบุคคลที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินได้จากการทำธุรกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ตามมาตรา 40(1) - (7) “จะต้องมีหน้าที่เสียภาษี”
ถ้าเข้าเกณฑ์ต้องยื่นยังไง?
การยื่นภาษีมี 2 ระยะ คือ
1. ภาษีครึ่งปี เฉพาะเงินได้ประเภท 5-8 ที่ได้รับ ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายนของปีภาษี โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ได้ภายในเดือนกันยายนของปีภาษีนั้น เพื่อเป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ค่าลดหย่อน บางรายการ จะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย
2. ภาษีสิ้นปี เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตลอดปีภาษีนั้น โดยยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
เตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
1. รายการเดินบัญชีธนาคารที่ใช้
2. รายการใบสั่งซื้อสินค้าต่างๆ หรือใบบันทึกที่ทางร้านทำไว้ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
3. บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)
สถานที่ยื่นภาษี
สรรพากรเขตใกล้บ้าน หรือยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต http://www.rd.go.th หรือดูข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ http://www.jarrettlloyd.com/publications/online-shopping-tax
สูตรการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรม
(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
จากนั้นนำรายได้สุทธิไปเทียบกับตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2561 (ตามตารางในภาพ)
มีอะไรที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้?
รายละเอียดของรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 แต่ละกลุ่มกันเลยดีกว่าครับ ว่าแต่ละตัวมีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้างเริ่มจากกลุ่มแรกคือ กลุ่มรายการค่าลดหย่อนภาระติดตัวคุณ
ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ
3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
- ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่เกิน 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)
โดยปี 2561 นี้ มีการ UPDATE เพิ่มตัวค่าลดหย่อนบุตร ในกรณีที่มีลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปจะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท ถ้าใครที่มีลูกคนที่สองเป็นต้นไปตั้งแต่ ต้นปี 2561 ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลย
4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องจ่ายเป็น "ค่าฝากครรภ์" และ "ค่าคลอดบุตร"
- จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท
- ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาท
แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ใน กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น
6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาทครับ (มาจาก 60,000 + 60,000 บาท)
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 กลุ่มต่อมา คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นครับ ซึ่งในกลุ่มนี้มีรายการค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้
1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
2. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 - 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่นๆ) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้
3. ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทย (55 จังหวัดเมืองรอง) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาทสำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าทัวร์ ค่าที่พัก เหมือนเดิมกับกฎหมายเก่า เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ 2 เรื่องครับ นั่นคือ สามารถใช้จ่ายเป็นค่าที่พักกับโฮมสเตย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวด้วยกับเงื่อนไขคือ ไม่ครบทั่วไทย ได้แค่กลุ่มเมืองรอง 55 จังหวัดเท่านั้น
สำหรับคนที่สงสัยว่า 55 จังหวัดเมืองรอง ได้แก่ นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยน่าน น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี
4. เงินลงทุนในธุรกิจ Startup 100,000 บาท สำหรับตัวนี้เป็นการสนับสนุนเพ่ิ่มเติมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังฮอตฮิต ซึ่งคำว่า ธุรกิจ Startup ที่ว่านี้ หมายถึง
4.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุนในธุรกิจนั้น
4.2 ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. และผ่านการรับรองจากทาง สวทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้จากการประกอบกิจการในส่วนนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด
โดยสิทธิลดหย่อนภาษีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 - 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งถ้าในปีไหนที่เรามีการลงทุนก็สามารถใช้สิทธิในปีนั้นๆ ได้
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน
กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วน คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่งครับ ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนก็ตาม พรี่หนอมขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ การวางแผนภาษี และในกลุ่มนี้จะมีรายการค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องตามนี้
1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาท
2. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพนั้นหมายถึงกลุ่มต่อไปนี้
ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
3. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท
โดยเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่นั้น เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในกรณี ที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถ นำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆ คน ได้ด้วย
4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
5. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินด้วยครับ สำหรับการซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้
- ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
- ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
- ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จะสามารถขายได้
7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนสามารถนำมา ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดกับนายจ้างไว้
8. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท อันนี้เป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับ คนที่ยังไม่ได้มีการวางแผนจัดการเรื่องนี้ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม
ผ่านเรื่องของการออมไปแล้ว ก็มาอยู่กันกับค่าลดหย่อนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องของการให้ครับ พรี่หนอมมองว่าเรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิต เป็นกุศล อยากจะส่งผ่านสิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น และการที่เราเป็นคนดีแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิ ในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม
โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 สำหรับกลุ่มนี้นั้น จะมีวิธีคำนวณแตกต่างออกไป เพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ แล้ว โดยจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ ทั้งหมดแล้วนั่นเอง
ดังนั้นจากที่เราเคยคำนวณภาษีแบบนี้
(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี จะกลายเป็น [(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี
โดยในปี 2561 นี้ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการบริจาคจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับ 1 เท่า ครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และช่วยเหลือสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ
2. เงินบริจาคให้ "สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง" ซึ่งหมายถึง สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านเทคโนโลยี และวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง จากต่างประเทศหรือ "คพอต" นั่นเอง
3. ค่าลดหย่อนบริจาคโรงพยาบาล (เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า) ของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนั้น เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้คนบริจาคให้กับสถานพยาบาลต่างๆของราชการครับ ทั้งที่เป็นสถาบันศึกษา องค์กรมหาชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆของรัฐ รวมถึงสภากาชาดไทย แต่มีเงื่อนไขว่า เมื่อรวมกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนอื่นๆ
กลุ่มลดหย่อนภาษีตามปกติ
1. เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็น 2 เท่า โดยคำว่าเงินบริจาคทั่วไป จะเป็นเงินที่เราบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา ต่างๆ รวมถึงมูลนิธิที่เป็นองค์กรสาธารณกุศล และสำหรับปี 2561 นี้ มีการเพิ่ม ค่าลดหย่อนน้ำท่วม ขึ้นมาด้วย เนื่องจากช่วงนี้มีข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ถ้าเรามีการบริจาคให้กับหน่วยงานที่เป็นตัวกลางอย่างภาครัฐ หรือ เอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน แต่ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
ค่าลดหย่อนกลุ่มยกมาจากปีก่อน
ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นค่าลดหย่อนที่ ยกมาจากปีก่อน ซึ่งเหลืออยู่กลุ่มเดียว นั่นคือ ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท ให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2558 - 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย
และทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่แม่ค้าออนไลน์ต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมในการวางแผนการยื่นภาษีค่ะ ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงข้อดีของการเสียภาษีกันค่ะ ฝากติดตามกันด้วยนะคะ
อ่านตอนที่ 3 จ่ายภาษีมีข้อดีอย่างไร?
ข้อมูลจาก https://aommoney.com